จากปรากฏการณ์ไอแพดฟีเวอร์ของแอปเปิลที่เปิดตัวในสหรัฐอเมริกาและวางขายทั่วโลกเมื่อเดือนเมษายน ปี 2553 ที่ผ่านมา และคาดการณ์ว่าจะสร้างยอดขายได้ถึง 50 -55 ล้านเครื่องภายใน สิ้นปี 2554 นี้ ส่งผลให้ตลาดแทบเล็ตโดยรวมโตขึ้นอย่างมากมาย เหมือนปรากฏการณ์ที่ สตีฟ จ็อบส์ ทำได้สำเร็จมาก่อนหน้านี้ ครั้งที่สร้างกระแสไอโฟนส่งผลให้ผู้เล่นรายอื่นต้องปรับตัวตามในตลาดสมาร์ทโฟน เนื่องด้วยความต้องการของผู้บริโภคทั่วโลกสูงขึ้น
ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับสินค้าแท็บเล็ตโดยรวมเกิดการกระตุ้นอย่างรวดเร็ว เพราะโอกาสในการขยายตลาดและการสร้างรายได้จากการออกแอพพลิเคชั่นต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเกมส์ ข่าวสาร นิตยสาร หนังสือ รายการบันเทิง ตลอดจนสินค้าและบริการต่างๆ เพราะสมาร์ทโฟนและแทบเล็ตกลายเป็นอวัยวะส่วนหนึ่งของร่างกายที่คนรุ่นใหม่จะขาดไม่ได้ และใช้เวลาอยู่ด้วยตลอดทั้งวัน
แทบเล็ตพับลิชชิ่งและอีบุ๊คส์กำลังเข้าใกล้ประชิดติดตัวนักอ่านเข้ามาทุกที จากผลการสำรวจล่าสุดของสมาคมผู้จัดพิมพ์และจัดจำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทยเปิดเผยว่า งานมหกรรมหนังสือฯ ครั้งที่ผ่านมา เริ่มมีคนรุ่นใหม่ที่ชอบอ่านหนังสือประเภท e-Book มากขึ้นเรื่อยๆ แม้ว่ายังอยู่ในสัดส่วนที่น้อยเพียงแค่ 3% แต่ก็เป็นสิ่งที่น่าจับตามอง
หากเราสังเกตให้ดีจะเห็นว่า คนรุ่นใหม่ที่อายุต่ำกว่า 30 ปีลงมา จะอ่านหนังสือพิมพ์น้อยลง แต่จะใช้เวลาในการเล่นเน็ต เช็คข้อความในมือถือ และอยู่กับเครื่องมือสื่อสารต่างๆ มากขึ้นเรื่อยๆ แม้กระทั่ง คอลัมนิสต์ดังๆ ที่ทรงอิทธิพลในประเทศไทย ลองไปถามเด็กรุ่นใหม่ดู ปรากฏว่า เขาแทบไม่รู้จักเลย!
กวาดตามองดูเวทีระดับโลกอย่างในสหรัฐฯ จะเห็นภาพและทิศทางที่ค่อนข้างชัดเจน ข้อมูลจากนิตยสาร Business Week ระบุว่าหนังสือพิมพ์รายวันทั่วสหรัฐฯ กว่า 635 ฉบับมียอดขายลดลง 8.7% และนิตยสารทั่วสหรัฐฯ 472 เล่ม ก็มียอดขายลดลงเกือบ 10%
นิตยสารชื่อดังอย่าง Newsweek มียอดขายตกลงถึง 41.7% นิตยสาร The Economist มียอดขายตกลง 16.8% หรือแม้กระทั่งนิตยสาร Time ก็มียอดขายตกลงมากถึง 34.9% เช่นกัน สาเหตุหลักๆ มาจากการเติบโตของอินเทอร์เน็ต การเพิ่มขึ้นของเว็บไซต์และบล็อกจำนวนมาก รวมทั้งแอพพลิเคชั่นต่างๆ บนแท็บเล็ตและสมาร์ทโฟน ทำให้ผู้ใช้มีทางเลือกในการอ่านคอนเทนต์ต่างๆ อย่างมากมายมหาศาล ธุรกิจสิ่งพิมพ์จึงต้องดิ้นรนเพื่อหาทางรอด
ในประเทศไทย ธุรกิจสำนักพิมพ์มีตัวเลขมูลค่าการตลาดในปี 2553 กว่า 20,000 ล้านบาท เติบโตจากเมื่อปี 2552 ซึ่งมีมูลค่าการตลาดมากถึง 19,200 ล้านบาท แม้ว่ากระแสของอีบุ๊คในบ้านเรายังไม่แรงเปรี้ยงปร้างเหมือนในตลาดต่างประเทศ แต่เราก็ไม่ควรประมาทการคืบคลานเข้ามาอย่างรวดเร็วของของ Amazon Kindle, BlackBerry PlayBook, Apple iPad, Samsung Galaxy Tab และ HP Slate ซึ่งสร้างผลกระทบไม่น้อยต่อวงการสิ่งพิมพ์ ตั้งแต่ นักเขียน นักแปล สำนักพิมพ์ผู้จัดจำหน่าย สายส่ง ร้านหนังสือ
คำถามที่ตามมา คือ หากอุปกรณ์เหล่านี้ราคาถูกลง และได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ แล้วตลาดหนังสือจะได้รับผลกระทบอย่างไรบ้าง แม้ว่าตัวผมเองจะเป็นคนรุ่นกลางเก่ากลางใหม่ที่ยังรักการอ่านหนังสือแบบเป็นเล่ม ชอบได้จับ สัมผัสและดมกลิ่นกระดาษ แต่พอได้สัมผัสกับระบบทัชสกรีนของไอแพดที่สามารถย่อขยาย ซูม หรือมีลูกเล่นระบบมัลติมีเดียสารพัด ก็สารภาพว่าติดใจอยู่เหมือนกัน!
ดังนั้น จึงขอเสนอประเด็นที่สำนักพิมพ์ควรพิจารณา ดังนี้
1) ต้นทุนการพิมพ์หนังสือ ตั้งแต่กระดาษ หมึก การพิมพ์ การประมาณการเรื่องสต็อกจะลดหายไป เพราะปัญหาของสำนักพิมพ์ส่วนใหญ่คือ ไม่พิมพ์มากไปจนกลายเป็นสต็อกค้างท่วมโกดัง ก็พิมพ์น้อยไปไม่พอขาย ซึ่งในกรณีหลังจะเกิดได้น้อยกว่า ดังนั้น การเข้าสู่ระบบอีบุ๊คส์จะทำให้ต้นทุนการผลิดลดลงไป คงเหลือเฉพาะต้นทุนการออกแบบ การเขียน และการตลาด
2) ปัญหาการจัดส่งหนังสือ การวางหนังสือตามร้านค้าที่มีจำกัดจะหายไป ในแต่ละปีที่มีหนังสือปกใหม่เดือนละเฉลี่ยพันกว่าปก ปีละหมื่นกว่าเล่มที่ขาดพื้นที่ในการวางจะลดน้อยลง เนื่องด้วยระบบอีบุ๊คส์จะทำให้สำนักพิมพ์ติดต่อได้โดยตรงกับผู้อ่าน ผู้ซื้อ และที่สำคัญ ปัญหาการส่งหนังสือไปต่างประเทศที่บ่อยครั้งค่าขนส่งจะสูงกว่าราคาหนังสือจะหมดไป
3) หนังสือบางปกที่อาจจะหมดจากสต็อก และทำให้การพิมพ์ซ้ำเป็นไปได้ยาก เนื่องจากจำนวนพิมพ์ขั้นต่ำที่อาจสุ่มเสี่ยงและไม่คุ้มทุน จะไม่เป็นปัญหาสำหรับอีบุ๊ค
4) นอกเหนือจากข้อความแล้ว ยังสามารถเพิ่มลูกเล่นต่างๆ ระบบมัลติมีเดีย เช่น เสียง วีดีโอ หรืออินเตอร์แอ็คทีฟเกมส์เป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับหนังสืออีบุ๊คได้ และเป็นสิ่งที่คนรุ่นใหม่มีความคุ้นเคย
5) อีบุ๊คจะยังไม่เข้ามาทดแทนตลาดหนังสือเล่มในอนาคตอันใกล้ แต่เป็นการเสริมช่องทางการตลาด และเป็นการพัฒนารูปแบบสินค้า (หนังสือ) ให้เข้าไปสู่กลุ่มเป้าหมายใหม่ๆ
นำร่องไปก่อนเป็นสำนักพิมพ์แรกๆ คือ ดีเอ็มจีที่ได้เปิดตัว DMG Books App นวัตกรรมการอ่านบนแท็บเล็ต เปิดให้ดาวน์โหลดหนังสือธรรมะ พระราชประวัติ พัฒนาตนเอง และสุขภาพกาย รวมกว่า 100 ปก พร้อม E-Tipitaka พระไตรปิฎกอิเล็กทรอนิกส์พร้อมระบบสืบค้น (Search Engine) เพื่อเผยแผ่หลักธรรมคำสอนแห่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอย่างครบถ้วนสมบูรณ์ ถือเป็นการนำข้อมูลที่เป็นขุมทรัพย์ทางปัญญาแห่งมนุษยชาติที่เก่าแก่กว่าสองพันปี เข้ามาบรรจุในเครื่องมือที่ทันสมัยที่สุดในยุคปัจจุบันเลยทีเดียว!
นอกจากนี้ ยังมีหนังสือเสียงที่เพิ่มโอกาสการเข้าถึงสำหรับผู้พิการทางสายตา และวีดีโอคลิปที่สามารถใช้งานได้จากสมาร์ทเก็ทเจ็ททุกแพลทฟอร์ม โดยเริ่มทำตลาดบน iPad ก่อน ที่น่ายินดีคือ DMG Books App ได้รับความนิยมในอันดับต้นๆ ในหมวดแอพพลิเคชั่นหนังสือที่มีมากกว่าหนึ่งหมื่นแอพพลิเคชั่น แสดงว่า คนรุ่นใหม่ก็ให้ความสนใจกับธรรมะพอสมควร เป็นการทำให้ธรรมะเข้ามาใกล้ชิดกับทุกจังหวะชีวิตของคนรุ่นใหม่มากขึ้น
จากข้อมูลของ Google AdMob ที่ได้สำรวจเกี่ยวกับการทำกิจกรรมยอดนิยมบนอุปกรณ์ แท็บเล็ต โดยการสอบถามไปยังผู้คนทั้งสิ้น 1,430 คน ที่อาศัยอยู่ในสหรัฐอเมริกา ด้วยข้อสงสัยที่ว่าผู้คนที่ใช้งานแท็บเล็ตอย่าง iPad จาก Apple, Galaxy จาก Samsung หรือ Xoom จาก Motorola นั้นทำอะไรกันบ้าง โดย 1 ใน 3 ของผู้ถูกสำรวจบอกว่า พวกเขาใช้แท็บเล็ตบ่อยครั้งกว่าการดูโทรทัศน์ และ 68% ใช้งานอย่างน้อย 1 ชั่วโมงต่อวัน และที่สำคัญมีกลุ่มผู้ใช้เพื่อการอ่านมากถึง 46% เลยทีเดียว
ก็หวังว่า การที่สำนักพิมพ์ต่างๆ ในบ้านเราและทั่วโลกกำลังขยับเข้าสู่ ‘แท็บเล็ตพับลิชชิ่ง’ กันมากขึ้นเรื่อยๆ จะทำให้มีผู้ใช้เครื่องมือมหัศจรรย์นี้เพื่อการอ่านสูงขึ้นกว่าเดิม ว่างๆ ก็ลองโหลด ไปอ่านกันนะครับ
ขอบคุณนะคะอาจารย์ที่แบ่งปัน..รู้อะไรอีกเยอะแยะเลยค่ะ..ที่สำคัญก้าวทันการเปลี่ยนแปลง
เรื่องจริงที่ไม่ควรมองข้ามจริงๆคะ ทุกวันนี้จับหนังสือน้อยลงมาก เปลี่ยนมาอ่านคอนเทนต์บนบล็อค และโหลดแอปพลิเคชั่นที่ตัวเองสนใจมากขึ้นคะ
e-book ก็เป็นอีกช่องทางหนึ่ง (นอกจากหนังสือเสียง) ที่จะช่วยให้การเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของผู้พิการทางสายตาทำได้รวดเร็วขึ้น และในราคาที่เท่าเทียมกัน
ตอนนี้หนูสามารถซื้อหนังสือผ่าน iBooks และอ่านได้เลยทันที โดยไม่ต้องรอหาคนมาอ่านหนังสือเล่มที่ซื้อเป็นเสียง (ซึ่งบางเล่มต้องรอเป็นปีกว่าจะได้ฟัง) หรือหาคนมาพิมพ์/สแกนกลับให้เป็นไฟล์อิเล็กทรอนิกส์ ก่อนเอาไปพริ้นต์ออกมาเป็นอักษรเบรลล์ (ซึ่งมีราคาสูงกว่าหนังสือเล่มที่ซื้อมาหลายเท่า)
อยากเห็นสำนักพิมพ์ไทยหันมาขาย e-book ที่ได้มาตรฐาน epub กันเยอะๆ ค่ะ